Cactus and Succulents,  Cactus Knowledge,  Cactus Story

ไข่ไดโนเสาร์ ไข่มังกร หรือลูกชิ้น

มีเพื่อนๆหลายคนทักถามเรื่องวิธีการเลี้ยงดู หรือล่อราก ไข่ไดโนเสาร์ ไข่มังกร หรือลูกชิ้น เข้ามาหลายคนๆ หลังจากไม่ได้อัพเดทคอนเทนต์เรื่องกระบองเพชรมาเป็นเวลานาน หนึ่งเลยถือโอกาสจุดไฟ เขียนเรื่องวิธีการเลี้ยงดู Tephrocactus ขึ้นมาซะหน่อย 

บทความนี้ เกี่ยวกับ Tephrocactus geometricus เป็นหลักนะคะ แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ Tephrocactus รวมๆเกือบทุกชนิดเลยค่ะ

รูปเล็กสามารถคลิ๊กที่รูปเพื่อดูรูปขนาดใหญ่ได้ค่ะ


ลักษณะทั่วๆไปของ Tephrocactus

Tephrocactus (เทโพร์แคคตัส)  มีถิ่นกำนิดในประเทศอเจนติน่า คำว่า “tephros” มาจากภาษากรีก แปลว่า สีเทาเหมือนขี้เถ้า ซึ่งเป็นสีของผิวลำต้น ที่ออกสีเทาอมฟ้า

Tephrocactus (เทโพร์แคคตัส) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นกลุ่มกอเตี้ย สูงไม่เกิน 30-40 ซม. ลำต้นเป็นข้อเรียงตัวกัน แต่ละข้อจะมีทรงกลมหรือทรงรี เรียงตัวกันเหมือนลูกชิ้นเสียบไม้ ลำต้นที่ต่อๆกันนี้จะหลุดหล่นได้ง่าย เพื่อให้ง่ายต่อการขยายพันธุ์

สำหรับ Tephrocactus geometricus ตัวเอกของเรา มีความเด่นเรื่องความกลม เนียน ไม่ค่อยมีหนามยาวแทงมือ แต่ตามตุ่มหนามจะมีหนามเป็นเข็มเล็กๆคล้ายๆโอพันเทีย ด้วยลักษณะที่ดูสมมาตรแปลกตา ทำให้ได้รับความนิยมมาก

นอกจากลำต้นที่ดูแปลกตาแล้ว ดอกของไม้สกุลนี้ถือว่า สวยหวานมากๆ มีความโดดเด่นและหาชมได้ยาก (ในไทย) ลักษณะดอกจะมีขนาดใหญ่ สีขาวถึงชมพูอ่อน กลีบชั้นเดียว หรือ กลีบซ้อนกันในบางชนิด 

เมล็ดส่วนใหญ่มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล มีเปลือกแข็ง คล้ายกับเมล็ดข้าวโพดแห้ง หรือ ฟันน้ำนม

 

จริงๆแล้วกระบองเพชรไข่ไดโนเสาร์นี้ มีหนามหลากหลายแบบ หลายฟอร์มมากๆ ตั้งแต่หนามยาว ถึงสั้น สีทอง สีดำ สีน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่เราจะเห็นแบบไร้หนาม เพราะเป็นที่นิยม ทำให้มีการผลิตมาในตลาดเป็นจำนวนมากกว่าแบบอื่นๆ

 


การปลูกเลี้ยง

กระบองเพชรสกุลนี้ ชอบการได้รับแสงแดดยาวๆ หลายๆชั่วโมงต่อวัน ชอบอากาศร้อนถึงเย็น ไม่ชอบความอบชื้น ที่วางควรมีลมพัดผ่าน ถ้าโรงเรือนมีการพลางสแลนและอากาศถ่ายเทได้ดี ผิวจะสวย

ดินที่ใช้ปลูกควรมีความโปร่งมากกว่าปกติ เพื่อการระบายน้ำที่ดี 

การรดน้ำ สามารถรดน้ำเหมือนกระบองเพชรทั่วไป โดยรดน้ำให้เต็มที่จนดินชุ่มน้ำทะลุถึงก้นกระถาง และรดน้ำครั้งต่อไปเมื่อดินเริ่มแห้ง

ไข่มังกรเป็นไม้โตช้ามาก ให้หน่อ และออกดอกยาก ในรอบ 1 ปีอาจจะให้หน่อ 0-2 หน่อ  และออกดอกก็ต่อเมื่อมีอากาศเย็นหมาะสม ทำให้ไม่ค่อยออกดอกในประเทศไทยเท่าไหร่

Tip: 

หน่อไข่มังกรจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นทุกปี การปลูกจึงควรใช้กระถางที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 1 ไซส์ เน้นกระถางปากกว้าง ก้นค่อนข้างลึก เพราะพอไม้อายุเริ่มเยอะ รากจะค่อยๆอ้วนขึ้น และโตเป็นโขด ถ้าไม่มีกระถางก้นลึก ใช้กระถางพลาสติกสีดำที่วางขายทั่วไป โดยรองก้นกระถางให้สูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย และ ผสมหินภูเขาไฟเพิ่ม เพื่อความโปร่งของดิน ให้ระบายน้ำได้ดี และแห้งไวกว่าปกติหลังรดน้ำ


การขยายพันธุ์

วิธีที่เหมาะกับการขยายพันธุ์ไม้สกุลนี้ที่สุด คือการตัดชำหน่อ หลังจากตัดหน่อแล้ว จะทายาเร่งรากหรือไม่ก็ได้ ให้วางในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ให้วางแบบลืมๆจนมีราก หรือ ถ้าปลูกโดยที่รากยังไม่มา ห้ามรดน้ำจนดินชุ่ม เพราะไม่มีรากในการช่วยดูดน้ำ จะทำให้เน่าได้ง่าย

การเพาะด้วยเมล็ด ค่อนข้างยากและใช้เวลานาน เพราะเมล็ดเทโพร์แคคตัส มีลักษณะใหญ่และหนามาก วิธีเพาะที่ใช้กันทั่วไปคือ เพาะแบบปิด เมื่อเมล็ดงอกจนมีใบเลี้ยง 2 ใบก่อน เมื่อหน่อตรงกลางมาก ให้แยกต้นที่งอกออกมาปลูกแบบเปิด หากเมล็ดไม่งอกใน 6-8 อาทิตย์ ให้เปิดถุงจนดินแห้ง แล้วลองทำให้ชื้นอีกครั้ง เมล็ดอาจจะใช้เวลาถึง 10 ปีในการงอก

 

NOTE: เมล็ดไข่มังกรจะมีแต่แบบนำเข้า ปกติจะมีมาช่วงต้นปี จากการรายงานผลของลูกค้าที่เพาะมา อัตราการงอกค่อนข้างดี ประมาณ 60-80% แต่จะมีปัญหาการเน่าหรือยุบของต้นอ่อน หลังจากงอกหรือโต้ได้ไซส์ประมาณ 1-2 ซม. 

 

การกร๊าฟท์ เป็นอีกวิธีที่สามารถใช้เพื่อช่วยไม้ที่เน่า เป็นโรค หรือ เร่งขยายทำจำนวน ส่วนมากจะกร๊าฟท์บนตอโอพันเทีย หรือ เฟอโรแคคตัส 

โดยลูกชิ้น 1 หน่อสามารถหั่นกร๊าฟได้ 2-8 ชิ้น เพราะมีท่อน้ำเลี้ยงขนาดใหญ่ และสามารถออกหน่อ (และราก) ได้ทุกตุ่มหนาม แต่ชิ้นที่หั่นกร๊าฟท์ต้องมีตุ่มหนามและท่อน้ำเลี้ยงติดอยู่

  • ตอเฟอโรแคคตัสเป็นตอของแคคตัสขนาดใหญ่ เมื่อนานไปสามารถฝังทำเป็นโคนรากได้เลย แต่อาจจะไม่เหมาะกับสายพันธุ์นี้ เพราะจุดที่ฝังอาจจะมีเกิดความชื้นเข้าที่รอยต่อได้
  • การกร๊าฟสามารถทำให้ออกหน่อได้เพิ่มขึ้นมากกว่าไม้ราก แต่ยังนับว่าให้หน่อช้าและไม่เยอะ 
  • หากเลี้ยงเพื่อการสะสม ไม้สกุลนี้เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นไม้รากตัวเองมากกว่า

โรคในไข่ไดโนเสาร์

เทโพร์แคคตัสเป็นไม้ที่ค่อนข้างอดทน โรคที่เจอได้บ่อยส่วนมากเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น โรคโคนเน่า จากความชื้น, เชื้อราสีดำน้ำตาล เป็นจุดกระจายตามต้น เกิดจากปุ๋ยมีไนโตรเจนสูง

นอกจากนี้ยังมีไวรัสในเทโพร์แคคตัส ที่ยังไม่มีสาเหตุการเกิดโรค ถ้าเกิดการติดไวรัสให้ตัดและทำลาย หน่อที่ติดไวรัสทิ้งเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

บางครั้งหากต้นเกิดการเน่า หรือ เชื้อรายังไม่ลุกลามมาก สามารถปาดส่วนที่ดำทิ้ง และทายากันราปิดแผล หากแผลแห้ง และไม่มีการลุกลามต่อ หน่อใหม่มักจะไม่ค่อยมีปัญหา


ข้อสงสัยอื่นๆ

  1. ลูกชิ้น น่าจะมาจากลักษณะต้นที่เรียงกันเป็นข้อๆ เหมือนลูกชิ้นที่ถูกเสียบด้วยไม้
  2. ไข่ไดโนเสาร์ ไข่มังกร น่าจะมาจากที่ปกติเทโพร์แคคตัสจะขายเป็นหน่อตัดสด เวลาตัดหน้าตาจะกลมๆ รีๆ เหมือนไข่ จากที่เป็นสีเขียวด้วย จึงเรียกกันแบบนี้
  3. ประเทศที่ทำไข่ไดโนเสาร์แบบจริงจัง ที่เห็นจะเป็นประเทศอิตาลี และประเทศจีน โดยเน้นการตัดหน่อชำ 
  4. ไข่ไดโนเสาร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถออกดอกได้จากการเปลี่ยนแปลงกระทันหันของอากาศ และต้นที่เลี้ยงในไทยก็สามารถออกดอกได้เหมือนกัน ถ้ามีอากาศเย็นติดต่อกันหลายอาทิตย์ 
  5. หน่อใหม่ส่วนมากจะสวย นวลเนียน เมื่อปลูกไปนานๆ หน่อที่อยู่ติดกับดินจะมีคราบหรือร่องรอยผุ แต่เป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องตกใจ 

ลักษณะโคนที่เกิดขึ้นได้เมื่อปลูกเลี้ยงไปนานๆ